ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อกเกอร์ของปุ๋ยนะคะ

ความเชื่อและประเพณี






ความเชื่อและประเพณี

ความเชื่อ หมายถึง ความคิด ความยึดถือยอมรับ หรือพฤติกรรมของมนุษย์แสดงออกถึงความคิด  ความยึดถือยอมรับต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือ เรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือ หลายสิ่งหลายเรื่อง  อันเกิดจากความกลัว ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจหรือมิอาจหาเหตุผลมาอธิบายได้ โดยเข้าใจว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นผลดีหรือผลร้ายนั้น มีสิ่งลึกลับที่มีอำนาจเหนือมนุษย์เป็นผู้บันดาลมนุษย์จึงกลัวอำนาจลึกลับและพยายามคิดหาวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้สิ่งที่มีอำนาจลี้ลับนั้นพอใจในการกระทำของงตน เพื่อบันดาลผลดี หรือความสุขแก่ตนและครอบครัว
ความเชื่อของแต่ละคน ของแต่ละท้องถิ่น แม้อยู่ในประเทศเดียวกันก็อาจไม่เหมือนกันหมดทุกอย่าง อาจแตกต่างกันออกไปเลยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับหลายสิ่งหลายอย่างประกอบกัน อาทิ ความรู้ ความเข้าใจ การอบรม ปลูกฝัง การถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ประสบการณ์ ค่านิยม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเราจะถือว่าความเชื่อของคนใด ของถิ่นใด เป็นความคิดเป็นความเชื่อที่ผิด หรือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง หรือล้าสมัยป่าเถื่อนนั้นไม่ได้ อนึ่ง ความเชื่อเป็นเรื่องที่เปลี่ยนยาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติ ประสบการณ์ และความฝังใจที่ถูกถ่ายทอดกันมานานด้วย กล่าวคือเมื่อผู้ใดมีความเชื่อในสิ่งใดเรื่องใดก็มักจะปักใจเชื่อและฝังใจในสิ่งนั้นเรื่องนั้น ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงง่ายๆ ต่อเมื่อได้รับความรู้ใหม่ๆ ที่ได้ประโยชน์จริงๆ หรือได้ประสบการณ์จ่างๆ ด้วยตนเองหรือมีเหตุผลอื่นๆดีกว่า น่าเชื่อถือมากกว่ามาลบล้าง ความเชื่อเดิมก็จะค่อยๆ จางหายไป


ที่มาของความเชื่อและศาสนา

            ในสมัยโบราณวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ เมื่อปรากฏสิ่งใดที่มนุษย์คิดว่าเป็นสิ่งประหลาดหรือมหัศจรรย์ผิดธรรมดาสามัญที่เคยเห็นเคยเป็น และมนุษย์ยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ หรือยังไม่สามารถหาเหตุอธิบายได้แม้แต่เรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เป็นต้น มนุษย์ก็เข้าใจเอาเองว่า สิ่งลี้ลับที่มีอำนาจเหนือมนุษย์เป็นผู้บันดาลให้เกิดต่างๆ นานา
            ดังนั้นจึงมีปัญหาสงสัยว่า ผู้มีอำนาจลี้ลับนั้นเป็นผู้ใด มีรูปร่างอย่างไรและสถิติอยู่ที่ใด และช่วงที่หายไปนั้นไปอยู่ ณ ที่ใด เรื่องนี้ มณี พยอมยงค์ (๒๕๒๙ : ๑๙๓) ได้อธิบายใน วัฒนธรรมล้านนาไทย ว่า  สิ่งใดก็ตามที่เราไม่สามารถจะมองเห็นตัวได้ แต่เราเข้าใจเองว่า มีฤทธิ์และอำนาจอยู่เหนือคนอาจให้ดีหรือร้ายคือให้คุณหรือโทษแก่เรา สิ่งเหล่านี้เรากลัวเกรงและบางทีก็นับถือด้วย เราเรียกสิ่งที่ว่านั้นว่า ผี ผีนั้นตัวจริงเป็นอย่างไรไม่มีใครทราบ…”
            นอกจากนี้ มณี พยอมยงค์ (๒๕๒๙ : ๑๙๔) ยังแบ่งพวกผี ดังนี้  ผีนั้นแบ่งเป็น ๒ พวกใหญ่ๆ คือ ผีดีและผีร้าย ผีดีนั้นไม่ให้ดีให้ร้ายใคร เว้นไว้แต่จะถูกทำให้โกรธ แต่เดิมเรียกว่า ผีฟ้า เพราะอยู่บนฟ้า ภายหลังเราได้คำว่า เทวดา มาจากอินเดียเราก็ใช้คำนี้แทน…”
            ส่วนผีร้าย ผีเลวหรือผีชั้นสามัญ ซึ่งมีอยู่มาก ผีพวกนี้เกะกะ ระราน ชอบแกล้งและทำร้ายคน คนจึงกลัวผีพวกนี้มากกว่าผีจากพวกอื่นๆ…”
            นอกจากนี้ยังมีผีอีกพวกหนึ่ง เป็นผีดี ผีฟ้าก็ไม่ใช่ เป็นผีร้ายก็ไม่เชิง เป็นพวกอยู่ในอากาศ อยู่ตามป่าตามเขา ตามถ้ำ ในน้ำ หรือบนต้นไม้ บางทีเราเรียก เทวดา บางทีก็เรียกว่า ผี จัดเป็นเทวดาชั้นต่ำ ซึ่งเรียกกันว่า เจ้า
            ด้วยเหตุนี้กระมัง มนุษย์จึงจินตนาการคิดสร้างเทวดา ผีสานนางไม้
ภูตผีปีศาจ วิณญาณต่างๆ ขึ้น เป็นการสมมุติแทนสิ่งลี้ลับที่มีอำนาจ เมื่อสร้าง
ขึ้นหรือสมมุติขึ้นแล้ว ก็ต้องแสดงออกด้วยความเคารพยำเกรง โดยจัดทำ
พิธีกรรมต่างๆ เป็นการบวงสรวง เพื่อให้สิ่งมีอำนาจหรือผู้บันดาลคุณหรือ
โทษแก่มนุษย์พอใจ จะได้มีเมตตา ไม่ทำร้าย และบันดาลความสุขให้แก่มนุษย์
ความเชื่อเช่นนี้มีทุกท้องถิ่นทุกประเทศ และออกมาในรูปของไสยศาสตร์  หรือ
ลัทธิบูชาเทพคล้ายคลึงกัน โดยต่างเทพเจ้า นางฟ้า นางไม้ ภูตผีปีศาจต่างๆ
เป็นผู้ทรงอำนาจเหนือมนุษย์ ดังปรากฏเทพนิยายของชาติต่างๆ เช่น ประเทศ
กรีซ โรมัน อียิปต์ อินเดีย และจีน เป็นต้น
            สำหรับคนไทยสมัยก่อนก็เคยเชื่อเหตุที่เกี่ยวกับธรรมชาติไม่น้อย โดย
มีเทพ มีอสูร และภูตผีที่มีฤทธิ์มาเกี่ยวข้องเช่นกัน (ผู้เขียนเข้าใจว่าคงรับ
อิทธิพลความเชื่อจากอินเดีย สังเกตจากชื่อเทพและอสูร)... คึกฤทธิ์
ปราโมช (๒๔๒๑ :) ได้ให้ความคิดเห็นไว้ใน ข้างสังเวียน ดังนี้
            ขึ้นต้นด้วยมนุษย์เรา อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ
ด้วยเหตุผลทางไสยศาสตร์เพราะยังขาดความรู้ทาง
วิทยาศสตร์ เป็นต้นว่า ฝนตกเพราะนาคให้น้ำ หรือมี
เทวดาเป็นผู้บันดาล ฟ้าร้องก็ว่า เป็นเสียงรถพระอินทร์
กำลังยกทัพ มีพวกมารุตเป็นไพร่พลไปรบกับยักษ์ ฟ้าแลบ
ก็ว่าเป็นแสงจากนางเมขลาล่อแก้ว ฟ้าผ่าก็ว่ารามสูรขว้าง
ขวาน โลกเราก็เชื่อว่า มีปลาอานนท์หนุนอยู่ เวลาแผ่นดิน
ไหวก็ว่าปลาอานนท์พลิกตัว…’’
            ความกลัว ความไม่รู้ ความเข้าใจและความไม่แน่ใจด้วยสาเหตุผลมา
ประกอบการอธิบายไม่ได้นี้เอง ทำให้เกิดความเชื่อ และความเชื่อส่วนสำคัญ
ไม่น้อยที่ทำให้เกิดลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ตลอดจนเกิดศาสนา ซึ่งตรงกับความ
เห็นของ มณี พะยอมยงค์ (๒๕๒๙ : ๑๗๘) ที่ได้อธิบายว่า
            “ความเชื่อนั้นก่อให้เกิดลัทธิบูชาธรรมชาติ มีพระอาทิตย์
พระจันทร์ ดวงดาว น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น ต่อมาลัทธิ
ความเชื่อเหล่านี้ได้พัฒนามาเป็นศาสนา มีการเชื่อและ
ยึดถือในเทพเจ้าต่างๆ ซึ่งเรียกว่ามีอิทธิปาฏิหาริย์ และสามารถ
ช่วยคนได้”
ข้อความดังกล่าวยังตรงกับความคิดของภิญโญ จิตต์ธรรม (๒๕๒๒ : ๔ )
            “จาก ความเชื่อก็กลายเป็นศาสนา (แนวปฏิบัติและการปฏิบัติ)
เช่น พระเวท เป็นต้น ต่อมาเมื่อศาสนาพุทธเกิดขึ้นก็
มีพระธรรม (พระธรรมของพระพุทธเจ้า) รวมกับพระเวท
และความเชื่อเดิมก็กลายเป็น ศาสนาฮินดู เมื่อศาสนา
อิสลามเข้ามาปนอีกก็เกิดเป็น “ซิกข์ หรือ สิกข์” ในทาง
กลับกัน ศาสนาก็กลับเป็นความเชื่อได้ เช่น นำพระธรรมมา
ใช้เป็นความเชื่อ คือคาถาอาคม ขอยกตัวอย่างคือ พระเครื่อง
ทุ่งเศรษฐีท่านสั่งไว้ว่า จะอาราธนาท่านไปไหนจะต้องภาวนา
คาถาว่า “อุ อะ กะ สะ” แล้วจึงไป ถ้าถือให้มั่นอย่างนี้แล้ว
ผู้นั้นจะเป็นเศรษฐี ซึ่งที่แท้ความประสงค์ให้ปฏิบัติธรรม
ตามหลักธรรม
            การที่ศาสนากลับเป็นความเชือ่ได้ โดยนำพระธรรมมาใช้เป็นความเชื่อ
ก็เพราะทุกศาสนามีจุดมุ่งหมายให้คนประพฤติชอบปฏิบัติดีนั่นเอง เพื่อ
สังคมจะได้อยู่อย่างสงบ โดยยึดหลักธรรมะเป็นที่พึ่งทางใจ และเป็นแนวทาง
ปฏิบัติที่ดีในชีวิต ความเชื่อเหล่านี้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ยุคที่วิทยาการเจริญ
ก้าวหน้า ความเชื่อในสิ่งต่างๆ ก็ค่อยๆ ลดลง เพราะคนรู้จักคิดพิจารณา
ไตร่ตรองและหันมาเชื่อในความมีเหตุผลมากขึ้น

ประเภทของความเชื่อ

            ความเชื่ออาจแบ่งได้ ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
.ความเชื่อที่งมงายไร้เหตุผล
.ความเชื่อที่มีเจตนาแฝงอยู่ เพื่ออบรมสั่งสอนให้คนประพฤติดี
จะได้เกิดผลดีมีสุขแก่ตน แก่ครอบครัว และสังคม
            ความเชื่อทั้ง ๒ ประเภทนั้น ภิญโญ จิตต์ธรรม (๒๕๒๒ : ๗)
แบ่งออกได้ ๑๒ กลุ่ม
.ความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ
.ความเชื่อกับยากลางบ้าน
.ความเชื่อกับโชคลาง
.ความเชื่อเกี่ยวกับ ฤกษ์ ยาม นิติ ฝัน
.ความเชื่อทางไสยศาสตร์
.ความเชื่อเกี่ยวกับลักษณะของคนและสัตว์
.ความเชื่ออันเนื่องมาแต่ศาสนา
.ความเชื่อเกี่ยวกับการทำมาหากินและอาชีพ
.ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณี
๑๐.ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเคล็ดและการแก้เคล็ด
๑๑.ความเชื่อเกี่ยวกับ นรก สวรรค์ ชาติ ภพ
๑๒.ความเชื่อเกี่ยวกับเลขดี เลขร้าย วันดี วันร้าย
            ส่วนมณี พะยอมยงค์ (๒๕๒๙ : ๑๗๙-o) แบ่งความเชื่อของชาวล้านนาไทยได้ ๑๓ กลุ่มด้วยกัน
.ความเชื่อถือเรื่องโชค ลาง ฤกษ์
.ความเชื่อเรื่องทำนายฝัน
.ความเชื่อเรื่องสิ่งแวดล้อมและปรากฏการณ์ธรรมชาติ
.ความเชื่อเรื่องสุขภาพและความสวัสดิภาพ
.ความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจและวิญญาณ
.ความเชื่อเรื่องลักษณะบุคคล
.ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์
.ความเชื่อเรื่องคาถาอาคมและเวทมนตร์
.ความเชื่อเรื่องยากลางบ้าน
o.ความเชื่อเรื่องฤดูกาล
๑๑.ความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้
๑๒.ความเชื่อและประเพณีเกี่ยวกับการนับถือผี
๑๓.ความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง
            การแบ่งกลุ่มความเชื่อของทั้งสองท่านเมื่อพิจารณาแล้วก็คล้ายๆกัน เพียงแต่ข้อปลีกย่อยอาจไปรวมหรือสลับกับข้อโน้นบ้างข้อนี้บ้าง แล้วแต่ละท่านจะเห็นสมควรว่าข้อปลีกย่อยใดควรจะไปรวมอยู่หัวข้อใดเท่านั้น อันที่จริงแล้วผู้เขียนคิดว่าความเชื่อของคนไทยแต่ละถิ่น แต่ละภาคคงคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ จะมีข้อปลีกย่อยเท่านั้นที่แปลกแตกต่างกันไป
            ขอยกตัวอย่างความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่มนุษย์บังคับไม่ได้คือ ฟ้าผ่าน่าจะถือว่าไม่ดี แต่กลับเห็นว่าเป็นมงคล นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใจกลางกรุงถึง ๒ ครั้ง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ กล่าวขานกันว่า เมื่อสร้างพระราชวังแล้วเสร็จมีชาวประมงทอดแหได้พระขรรค์มีอักขรขอมเป็นคาถาอยู่ที่ด้าม จึงนำส่งเจ้าเมือง เจ้าเมืองได้ส่งถวาย วันที่อัญเชิญนั้นขณะที่ผ่านประตูพระราชวังชั้นนอก ฟ้าผ่าลงมา แต่ไม่เป็นอันตรายแก่ผู้ใดและสิ่งใด และเมื่อผ่านประตูชั้นกลางหรือชั้นที่ ๒ ฟ้าก็ผ่าลงมาอีกเป็นคำรบสองก็ไม่เป็นอันตรายแก่ผู้ใดหรือสิ่งใดอีกเช่นกัน ภายหลังพระราชทานนามว่า พระขรรค์ไชยศรีก็ได้เป็นหนึ่งในห้าของเครื่องราชกกุฎภัณฑ์ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามประตูชั้นนอกว่า วิเศษไชยศรี และชั้นกลางว่า พิมานไชยศรี ตามชื่อพระขรรค์ ไชยศรีดังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ เหตุการณ์ครั้งที่ ๒ ในวันเดียวกันเมื่อ พ..๒๓๓๒ ฟ้าผ่าลงองค์พระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท จนเกิดไฟไหม้พระที่นั่งทั้งองค์ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท พระราชอนุชาได้ทรงพยากรณ์เองและทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน เพลงยาวถวายพยากรณ์
เหตุเห็นเป็นอัศจรรย์การ        ขอประทานทูลถวายทำนายไว้
     อันฟ้าลงในวังครั้งนี้              จะเกิดสวัสดีที่ยิ่งใหญ่
                             จะมีอานุภาพปราบไป            ในทศทิศสิบประการ
                              แล้วจะแผ่อาณาจักรขอบเขต   ทั่วประเทศทิศาสาร

ความเชื่อที่ยังหลงเหลืออยู่

            อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแม้มนุษย์จะเรียนรู้และมีเหตุผลมากขึ้นจนเชื่ออย่างอย่างเก่าค่อยจางหายไปจากจิตใจมากแล้ว แต่มนุษย์ยังมีความกลัว อาจเป็นเพราะขาดที่พึ่งทางใจ หรือวัตถุเจริญรวดเร็วเกินไปจนปรับใจปรับตัวไม่ทัน จึงเกิดความสับสนทางความคิดและว้าวุ่นใจ หรือได้รับการปลูกฝังความเชื่อสืบทอดมานานจนฝังใจ จึงไม่กล้าละเลย ยังคงต้องปฏิบัติต่อไปตามความเชื่อ หรืออาจมีสิ่งที่มนุษย์ยังไม่รู้จริงอีกมาก สิ่งนั้นก็คือสิ่งเหนือธรรมชาติ มนุษย์จึงยังมีพฤติกรรมแสดงออกทางความเชื่อกันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น คนไทยในปัจจุบัน แม้จะนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ยังกราบไหว้ศาลพระภูมิ ผีบ้านผีเรือน หรือเมื่อเดินทางไปพักแรมกลางป่าก็ต้องเคารพเจ้าป่าเจ้าเขาขอให้ช่วยคุ้มครอง หรือตามริมถนนทางโค้งอันตราย ทางขึ้นเขาที่ชันอันตราย มักมีการปลูกศาล คนผ่านไปมาจะกราบหรือเซ่นสรวงด้วยด้วยการถวายดอกไม้ พวงมาลัย จุดประทัด ตลอดจนสร้างศาลเพิ่มขึ้น ดังปรากฏศาลใหญ่น้อยมากมายที่เทือกเขาขุนตาล จังหวัดลำปาง เป็นต้น สำหรับผู้เขียนคิดว่า อันที่จริงการสร้างศาลมากมายตามริมทางก็ดีเหมือนกัน ผู้ขับขี่รถผ่านไปมาจะได้ยั้งคิด ได้ชะละความเร็ว เป็นการช่วยลดอุบัติเหตุไปในตัวด้วย
            ดังนั้นก็พอจะกล่าวได้ว่า  ถึงแม้มนุษย์จะรู้จักคิดหาเหตุผลมากขึ้น    และลดความเชื่อลงมาก  แต่ความเชื่อนั้นก็ยังไม่หมด    ทั้งนี้ขึ้นกับความรู้ทัศนคติ   ค่านิยมและความฝังใจที่ได้รับจากการปลูกฝังถ่ายทอดมานาน   พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเรื่อยๆ  จนกลายเป็นประเพณีจึงยังคงมีต่อไป

ความสำคัญของความเชื่อ

จากการที่มนุษย์ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ และยังกลัวความตาย ความทุกข์ยาก  และความทุกข์ทรมานในความเจ็บปวด เป็นต้นว่า เกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดคลื่นยักษ์ไฟไหม้ป่า และโรคภัยไข้เจ็บนานาชนิดทำให้มนุษย์เจ็บป่วย ทุกข์ทรมาน ทุกข์ยากลำบากต่างๆกันไป มนุษย์จึงเกิดความกลัว และเกิดความเชื่อในอำนาจที่ลึกลับเหนือมนุษย์ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ลึกลับที่ทรงอำนาจ สามารถบัลดาลให้เกิดให้เป็นไปต่างๆนานาประการ มนุษย์จึงคิดปฏิบัติดีปฏิบัติงาม เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตน แม้หาเหตุผลได้แล้วความกลัวจะเลือนไปบ้าง ความเชื่อจะลดน้อยลง แต่ก็มีบางอย่างที่ยังเชื่อฝังใจอยู่ ก็จะปลูกฝังหรือถ่ายทอดความเชื่อไปยังลูกหลานโดยสั่งให้ทำโน่นทำนี่ หรือห้ามปรามทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยอ้างถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลึกลับที่จะบันดาลคุณหรือโทษเป็นสำคัญด้วยวิธีหลอกให้เชื่อ หรือขู่ให้กลัว แม้ความกลัวบางอย่างจะขาดเหตุผล ความเชื่อบางเรื่องดูจะงมงาย แต่ผู้ใหญ่ก็มีเจตนาดี การอบรมสั่งสอนให้เยาวชนประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกควร ก็ด้วยมุ่งหวังให้เกิดสิริมงคล เกิดความสุขแก่ตนเอง แก่ครอบครัว และแก่สังคมเป็นสำคัญ นับว่าเป็นเรื่องยาก ด้วยเด็กมักดื้อ ไม่เชื่อฟัง หรืออวดดีทำนอกลู่นอกทาง ถ้าหลอกให้กลัว เด็กจะยอมปฏิบัติโดยง่ายมากกว่าชี้แนะ ด้วยเหตุนี้ผู้ใหญ่สมัยก่อนจึงถือโอกาสเอาความกลัวและความเชื่ออันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ มาใช้ให้เกิดผลดีมีประโยชน์แก่เด็ก นับว่าเป็นวิธีที่แยบคายมาก



ที่มาของประเพณี

มนุษย์อยู่ในสังคมใด ก็ต้องเชื่อและปฏิบัติตามประเพณีของสังคมนั้นเพราะถ้าไม่เชื่อหรือไม่ปฏิบัติตาม จะเกิดความไม่สบายใจแก่ตนเอง ถึงแม้ว่าปัจจุบันวิทยาศาสตร์จะเจริญมากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีคนบางคนบางกลุ่มยังยึดถือยังเชื่อและพอใจที่จะปฏิบัติตามประเพณีเดิม เพื่อความสบายใจ และตามความเชื่อที่ว่าถ้าปฏิบัติตามแล้วจะเป็นมงคลแก่ตนและครอบครัว
            สำหรับคนไทย ประเพณีมีมานานแล้วจะเกิดจากความเชื่อในสิ่งที่ตนคิดว่ามีอำนาจเหมือนมนุษย์เช่นกัน  เช่น  อำนาจของดินฟ้าอากาศ   เมื่อเกิดภัยพิบัติและยังไม่เข้าใจเรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติ   ก็จะอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่ตนเชื่อว่ามีอำนาจช่วยปัดเป่าภัยต่างๆ  ให้ผ่านไป   เมื่อพ้นภัยแล้วจะแสดงการรู้คุณต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น    ด้วยการบูชาบวงสรวงและแสดงความรื่นเริงเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนตามความเชื่อที่เขามักเรียกกันว่า  “แก้บน”   เป็นตนเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป   ประเพณีก็อาจเปลี่ยนแปลงไปด้วย   ทั้งนี้เพราะวิทยาสตร์เจริญขึ้น   ผู้คนได้รับความรู้ใหม่ที่ทันสมัย   และมีเหตุผลมากขึ้นความเชื่อเก่าลดลง  ดังนั้นสิ่งที่เคยทำบ่อบๆ   จนเป็นประเพณีอาจเรือนรางได้แต่บางประเพณีก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน  ถึงแม้จะมีสิ่งใหม่เข้ามาปะปน  ก็สามารถผสมผสานเข้ากันได้ดี  หรือช่วยเสริมสิ่งเก่าให้คงอยู่  ทั้งนี้เพราะความเชื่อยังฝังใจอยู่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อเกี่ยวกับการปลูกบ้าน การขึ้นบ้านใหม่  การแต่งงาน  ก็ยังต้องดูวันดี  วันไมดี  และยังนิยมใช้ฤกษ์พานาที่อยู่  แม้แต่การตาย  เมื่อผู้ใดตายไปแล้ว  ญาติผู้อยู่เบื้องหลังยังต้องประกอบพิธีบางอย่างตามความเชื่อตามประเพณีเดิมที่สืบทอดกันมาช้านาน  ทั้งนี้เพื่อหวังความสงบสุขของวิญญาณผู้ตาย  และเพื่อความสบายใจของผู้ยังมีชีวิตอยู่  ด้วยเหตุดังกล่าวประเพณีเดิมบางประเพณีจึงยังไม่หมดไป



ประเภทของประเพณี

        ประเพณีแบ่งออกได้ ๓  ประเภท  คือ   
      .จารีตประเพณี    เป็นประเพณีที่มีศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นเรื่องของความผิด   ความถูก  หรือเป็นกฎที่มีความสำคัญต่อสวัสดีภาพของสังคมสังคมมีการบังคับให้สมาชิกปฏิบัติตาม  และจะมีปฏิกิริยาต่อต้านถ้ามีใครฝ่าฝืนบุคคลจะต้องปฏิบัติเพื่อความสงบสุข  หรือเพื่อผลประโยชน์ของสังคม  ดังนั้นจาตรีประเพณีจึงเป็นข้อห้ามการกระทำบางอย่างที่สังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับ  เช่น  ลักขโมย  เป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น เนรคุณบุพการี เป็นต้น
     จารีตประเพณีมีนทุกระดับ   ตั้งแต่ครอบครัวจนถึงระดับประเทศจารีตประเพณีทุกท้องถิ่นอาจแตกต่างกันไปแล้วแต่ลักษณะหรือสภาพของท้องถิ่น  บางอบ่างถือว่าเป็นเรื่องส่วนรวม  ต้องช่วยกันทำช่วยกันปราม  ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองของท้องถิ่น  ด้วยเหตุนี้จารีตประเพณีใดที่เห็นว่าดีและมีความจำเป็นยิ่งแก่สังคม  จารีตประเพณีนั้นก็จะกลายเป็นกฏและในที่สุดกลายเป็นข้อบังคับให้ทุกคนปฏิบัติ  อาทิ  บิดามารดาต้องเลี้ยงดูบุตรแพทย์ต้องรักษาความลับของคนไข้
     . ขนบประเพณี   ตามความหมายแปลว่า “ระเบียบแบบแผน”  บางทีเรียกว่า “ระเบียบประเพณี”  เพราะเป็นประเพณีที่สังคมได้กำหนดระเบียบกฏเกณฑ์ไว้ให้ปฏิบัติ  อาจจะโดยตรง  หรือโดยอ้อม
 โดยทางตรง  คือ   มีระเบียบกฎเกณฑ์หรือพิธีการต่างๆ  กำหนดไว้ชัดเจน
 โดยทางอ้อมคือ  เป็นประเพณีที่รู้กันโดยทั่วไป  ไม่ได้วางระเบียบไว้แน่นอน  แต่ประพฤติปฏิบัติได้  เพราะรู้กันเองอยู่แล้ว  หรือคนเขาปฏิบัติกันมานานแล้ว  อาทิ   ประเพณีแห่พระของชาวใต้  และประเพณีแห่บ้องไฟของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ขนบประเพณีเป็นเรื่องที่คนในสังคมปฏิบัติต่อเนื่องจนกลายเป็นระเบียบ  เป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมา  ขนบประเพณีนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา  ตามสภาพสังคม  และตามสภาพของบ้านเมืองในแต่ละยุคแต่ละสมัย  เช่น  ประเพณีการอยู่ไฟหลังคลอด  เดี๋ยวนี้นิยมแล้ว   เพราะมีแพทย์แผนปัจจุบัน  หรือแพทย์แผนไทยสมัยใหม่รักษาด้วยการให้อยู่กระโจมมอบตัว  และประคบด้วยสมุนไพร  ซึ่งดีกว่าและสะดวกกว่าการอยู่ไฟเป็นต้น
        . ธรรมเนียมประเพณี    เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องธรรมดาสามัญ  ไม่มีระเบียบแบบแผนเหมือนขนบประเพณี  ไม่เกี่ยวกับความผิดความถูกเหมือนจารีตประเพณี  เป็นเพียงแต่นิยมปฏิบัติกันโดยทั่วไปจนเกิดความเคยชิน  จนไม่รู้ว่าเป็นภาระหรือหน้าที่  การปฏิบัติก็ไม่มีกฎหรือข้อบังคับให้ปฏิบัติ  ถ้าทำผิดไปบ้างก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร  นอกจากเห็นว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่ไม่รู้จักกาลเทศะหรือเสียมารยาทไปเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้ผู้ใหญ่มักจะสอนธรรมเนียมประเพณีแก่เด็ก  โดยเฉพาะในเรื่องกิริยามารยาท  การกราบไว้  การพูดจา  การแต่งการกาย  เพราะเป็นเรื่องของชีวิตประจำวันที่เราควรรู้ว่าต้องวางตัวอย่างไร หรือปฏิบัติตนอย่างไร จึงจะเหมาะสมถูกกาลเทศะ
            อย่างไรก็ตาม จารีตประเพณี ขนบประเพณี  และธรรมเนียมประเพณีได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยและตามสภาพของสังคม ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสม บางคนอาจเห็นว่าประเพณีและประเพณีและพิธีกรรมเป็นเรื่องเหลวใหล เป็นความเชื่อของคนที่ขาดการศึกษา แต่ในขณะเดียวกันเราต้องไม่ลืมว่าประเพณีต่างๆก็เป็นการบ่งบอกถึงประวัติความเป็นมาและความเจริญของชาตินั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
            จากประเพณี ๓ ประเภท  ถ้าเราพิจารณารวมๆถึงประเพณีสำคัญของสังคมไทยที่ยังนิยมปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ก็มีมากมายมิใช่น้อย ในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยนั้น (ลักขณา ศกุนะสิงห์, ๒๕๓๒: ๔๓-๔๕) ได้แบ่งเป็นข้อๆพอสรุปได้ดังนี้
๑.     ประเพณีของครอบครัว เป็นประเพณีเฉพาะตัว ไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคม
๒.   ประเพณีของสังคมเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับคนส่วนใหญ่ เป็นการรวมน้ำใจร่วมกันทำในระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติ
๓.    ประเพณีท้องถิ่น ท้องถิ่นแต่ละแห่งมักจะมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ทรัพยากร และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
๔.    ประเพณีทางราชการ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ รัฐพิธีและราชพิธี
๑.     รัฐพิธี
๒.   ราชพิธี
-พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
-พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

ความสำคัญของประเพณี

            ประเพณี เปรียบเสมือนสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายที่จะต้องมีการสืบพันธุ์มีลูกหลานต่อไป แต่ประเพณีจะเป็นการสืบเนื่อง กล่าวคือ ถ้าผู้คนปฏิบัติเป็นกิจนิสัยประจำชาติ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ประเพณีก็คงอยู่ตลอดไป เช่น ประเพณีการกิน  ประเพณีการแต่งกาย ประเพณีการทักทายด้วยการไหว้ ประเพณีการแต่งงาน หรือประเพณีการทำศพ เป็นต้น ดังนั้นประเพณีจึงมีความสำคัญมากซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
๑.     ประเพณี มีส่วนช่วยรักษาชาติ เพราะประเพณีแสดงออกถึงความเป็นสัญลักษณ์ของชาติ
๒.   ประเพณีก่อให้เกิดกฎ อันเนื่องมาจากการที่มนุษย์ได้ประพฤติปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนานจนกลายเป็นกฎ เป็นข้อห้าม ข้อปฏิบัติ
๓.    ประเพณีก่อให้เกิดระเบียบแบบแผนและวินัยในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข พ้นจากสภาพป่าเถื่อนเยี่ยงสัตว์
๔.    ประเพณีส่งเสริมให้ประชาชนปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควรและมีคุณธรรมหลายประการ
๕.    ประเพณียังมีส่วนช่วยเสริมกำลังใจ คือทำแล้วจะสบายใจ เช่นประเพณีทำบุญขวัญเดือน ประเพณีทำบุญในวันแต่งงาน เป็นต้น
๖.     ประเพณียังมีส่วนช่วยทำให้เกิดความอบอุ่นใจในครอบครัว และมีความรักใคร่ปรองดอง
๗.    ประเพณีมีส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว กล่าวคือ ในงานเทศกาลต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ จะดึงดูดคนในท้องถิ่น คนต่างท้องถิ่นและชาวต่างประเทศให้มาเที่ยวมาร่วมงานได้มาก
๘.    ประเพณีช่วยส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศชาติ กล่าวคือ เมื่อถิ่นใดมีงานเทศกาล คนในท้องถิ่นและต่างถิ่นมาเที่ยวงานมาร่วมงานประเพณีก็ย่อมต้องใช้จ่ายซื้ออาหาร ซื้อของที่ระลึก อาจต้องค้างคืน ฉะนั้นรายได้ในท้องถิ่นนั้นก็จะเพิ่มขึ้น ชาวบ้านก็จะได้งานได้เงินพิเศษจากที่เคยมีเคยได้ประจำ









ขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสือความเชื่อและประเพณี
ผู้แต่ง ลักขณา ศกุนะสิงห์
พิมพ์ครั้งที่ 1  / 2556
จำนวน 5,000 เล่ม
พิมพ์ที่ บริษัท พราวเพรส (2002) จำกัด, กรุงเทพ โทรศัพท์ 02-398-9741-5
WWW.Prodpress.net

13 ความคิดเห็น:

  1. มีประโยชน์มากเลย

    ตอบลบ
  2. ธรรมมะ ธรรมโม สุดๆ

    ตอบลบ
  3. เนื้อหาเยอะดีอ่ะ

    ตอบลบ
  4. มีประโยชน์ดีค่ะ

    ตอบลบ
  5. เราต้องช่วยกันรักษาประเพณี และช่วยกันสืบต่อไปยังลูกหลาน

    ตอบลบ
  6. ความเชื่อประเพณีต่างๆเราต้องรักษา

    ตอบลบ
  7. หากเราช่วยกันรักษาและสือสานประเพณีเราก็จะไม่เลือนหายไป

    ตอบลบ
  8. เราต้องรู้จักรักษา เอาไว้

    ตอบลบ
  9. ได้ความรู้มากเลย

    ตอบลบ
  10. รู้สึกมีความรู้มากขึ้น

    ตอบลบ
  11. สาระดี มีความรู้เยอะขึ้นเรยผม

    ตอบลบ